ปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoarthritis)
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นภาวะที่กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายอันเนื่องมาจาก ความชรา, การบาดเจ็บในข้อเข่า, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือ สาเหตุอื่น ๆ ทำให้เกิดการอักเสบของผนังหุ้มข้อ และส่งผลให้ข้อเข่าบวมและปวด เมื่อผิวข้อถูกทำลายไปมากขึ้น ส่งผลให้มีการผิดรูปที่ข้อเข่า จำกัดพิสัยการเหยียดงอข้อเข่า และเดินผิดรูป
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติ ดังนั้นการรักษาหลัก คือ การชะลอความเสื่อมของผิวข้อให้นานที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายที่มีความผิดรูปของข้อเข่าไปมาก การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมเป็นการรักษาที่ได้ผลดีอย่างมาก
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
อาการแสดงเริ่มแรกเมื่อมีปัญหาข้อเข่าเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการขัด ตึง บริเวณรอบ ๆ เข่า โดยเฉพาะเวลาเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นยืนหรือเดิน เมื่อมีการอักเสบที่ข้อเข่าขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดในข้อเมื่อลงน้ำหนักขาข้างนั้น จนเป็นสาเหตุที่มาพบแพทย์
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ผ่าตัด
– ควบคุมน้ำหนักตัว โดยในคนที่มีค่าน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐาน ก็ควรที่จะทำการลดน้ำหนักให้ค่า BMI ไม่เกิน 25 kg/m2
– การบริหารกล้ามเนื้อหัวเข่า วิธีการคือ ให้นั่งบนเก้าอี้หลังพิงพนักยกเท้าขึ้นมาและเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาโดยการกระดกข้อเท้าให้นับ 5-10 วินาทีทำข้างละ 15-30 ครั้งอย่างน้อยวันละ 3 เวลา
– การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการใช้ยา
ยากลุ่ม NSAID เพื่อรักษาการปวดอักเสบที่เกิดจากข้อเสื่อม การใช้ยาควรอยู่ในดุลยพินิจและการดูแลของแพทย์โดยใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการและใช้เพียงช่วงสั้นๆเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของยา เช่นเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขึ้น การทำงานของไตแย่ลง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร
ยารักษาอาการข้อเสื่อมแบบใช้ต่อเนื่อง ได้แก่ ยากลูโคซามีน (Glucosamine) ยาไดอะเซรีน (Diacerein) หรือ ยาคอนดรอยติน (Chondroitin) เมื่อมีการใช้อย่างต่อเนื่อง มักเริ่มแสดงผลที่ 3-4 สัปดาห์หลังการใช้ยา โดยทั่วไปแนะนำให้ใช้ต่อเนื่องประมาณ 3-6 เดือน
– การฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียม (Visco Supplementation) เป็นยากลุ่มที่ใช้ฉีดเข้าไปในข้อโดยตรง ออกฤทธิ์เฉพาะมีเป้าหมายเพื่อเข้าไปทดแทนน้ำเลี้ยงข้อที่น้อยลงจากโรคข้อเสื่อม ช่วยลดการเสียดสีภายในข้อและยังช่วยลดการอักเสบได้ในนานหลายเดือน
ข้อบ่งชี้ ที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
- มีอาการขัดบริเวณข้อ มีเสียงดังในข้อเข่าเมื่อเคลื่อนไหว
- มีอาการปวดเวลาลงน้ำหนัก เวลาเดินและทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
- การใช้งานของข้อเข่าทำงานได้ลดลงจากภาวะปกติ เช่น การงอเหยียดเข่าไม่สามารถทำได้ ไม่สามารถนั่งพับเพียบได้
- เวลาก้าวเดินมีความรู้สึกไม่มั่นคง รู้สึกเข่าหลวม
- มีลักษณะขาโก่ง และขาแปร่วมด้วย
แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาผิวข้อที่เสียแล้วออกจนหมด และทำการใส่ผิวข้อใหม่ที่ทำจากวัสดุพิเศษทางการแพทย์ อันมีความแข็งแรง คงทน และสามารถเข้ากับเนื้อเยื่อร่างกายได้ดี โดยศัลยแพทย์จะต้องตั้งตำแหน่งการวางผิวข้อเทียมให้ถูกจุด ปรับความตึงหรือหย่อนของเนื้อเยื่อรอบข้อเข่าให้เหมาะสม ปัจจุบันรูปทรงข้อเข่าเทียมสามารถงอได้ประมาณ 100 -145 องศา วัสดุของผิวข้อเข่าเทียม ผลิตมาจากโลหะและโพลิเมอร์ ที่แข็งแรงและปลอดภัยต่อร่างกาย และได้มาตรฐานการรับรองสากล จากประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) ผิวข้อเข่าเทียมยึดติดกับกระดูกด้วย ซีเมนต์ (Bone cement) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงในการยึดเกาะระหว่างผิวข้อโลหะกับกระดูก
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
โดยทั่วไปหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถลุกนั่ง ขยับขา และข้อเท้าได้ทันที เมื่อรู้สึกตัวหลังการผ่าตัด และฝึกเดินภายได้ภายใน 24 ชม. ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยควรจะงอเข่าได้อย่างน้อย 90 องศา และเหยียดได้เกือบสุด ถึงจะอนุญาตให้กลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้านได้
หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้ดีและใช้งานเป็นปกติภายใน 3 เดือน
ในช่วงเดือนแรก สามารถลงน้ำหนักได้ร่วมกับการใช้อุปกรณ์ช่วยเดินแบบสี่ขา เพื่อความมั่นคงขณะเดินและลดอาการปวดจากการลงน้ำหนักที่ขา เมื่อผู้ป่วยสามารถลงน้ำหนักได้มากขึ้นอาจพิจารณาเปลี่ยนอุปกรณ์ช่วยเดินเป็นไม้คำยัน และไม้เท้า
หลังการผ่าตัดผู้ป่วยต้องทำกายภาพด้วยตัวเองเป็นหลัก หรือมีนักกายภาพช่วยเพื่อเพิ่มพิสัยการเหยียด และงอเข่า และป้องกันพังผืดยึดเกาะในข้อเข่า
ข้อเข่าเทียม จะอยู่ได้นานกี่ปี?
ข้อเข่าเทียมจะสามารถอยู่ได้นานประมาณ 20 ปี ถ้าทำการผ่าตัดกับศัลยแพทย์ที่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเปลี่ยนข้อและการเลือกชนิดของข้อเทียมที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งผู้ป่วยควรดูแลน้ำหนักตัวไม่ให้เพิ่มขึ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงท่าที่มีการงอเข่ามากผิดปกติ หรือกิจกรรมที่ทำให้ลงน้ำหนักที่ข้อเข่ามากโดยไม่จำเป็น
แพ็กเกจผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ
ราคา 250,000 บาท (พักฟื้น 4 วัน 3 คืน)