การผ่าตัดถุงน้ำดีโดยใช้กล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy)

โรคนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone) สาเหตุเกิดจากการตกตะกอนของหินปูน (แคลเซียม) หรือคอเลสเตอรอลในน้ำดี  ทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วก้อนเดียวหรือ หลายๆ ก้อน โรคจะรุนแรงขึ้นเมื่อก้อนนิ่วหลุดเข้าไปในท่อน้ำดีหรือท่อตับอ่อน

ลักษณะอาการของผู้ป่วย อาจแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ดังนี้

  1. กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ
  2. กลุ่มผู้ป่วยมีอาการท้องอืดจุกเสียดแน่นท้องบริเวณใต้ชายโครงข้างขวาและใต้ลิ้นปี่โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ประเภทไขมัน
  3. กลุ่มผู้ป่วยที่มีถุงน้ำดีอักเสบร่วมด้วย โดยนิ่วสามารถก่อให้เกิดการอักเสบของถุงน้ำดี ซึ่งจะมีอาการปวดท้องใต้ชายโครงข้างขวามาก อาจจะมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ถ้าในระยะนี้ ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องผู้ป่วยอาจมีโรคแทรกซ้อนถึงเสียชีวิตได้
  4. กลุ่มผู้ป่วยที่มีการอุดตันท่อน้ำดี นิ่วในถุงน้ำดีถ้าหลุดลงไปอุดตันท่อน้ำดีจะท้าให้เกิดอาการตัวเหลืองตาเหลือง หรือที่เรียกว่า ดีซ่าน และมีไขมันในเลือดสูง ปวดท้องมาก หรือท้าให้ตับอ่อนอักเสบ ซึ่งท้าให้การรักษายุ่งยากซับซ้อนมากและมีอันตรายเพิ่มขึ้น

การวินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดี

1.1. การทำอัลตร้าซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อตรวจหานิ่วในถุงน้ำดี

1.2. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT-Scan ตรวจหานิ่วในถุงน้ำดี, นิ่วในท่อน้ำดี และดูภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

 1.3. การส่องกล้องตรวจรักษาท่อน้ำดีและตับอ่อน (endoscopic retrograde cholangiopancreatography; ERCP) เป็นวิธีการที่ใช้ในการตรวจประเมิน วินิจฉัย และวางแนวทางการรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบท่อน้ำดีและตับอ่อน เช่น การอุดตันในท่อน้ำดีจากก้อนนิ่ว เนื้องอก หรือพังผืด การตีบแคบของท่อน้ำดีเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ การอุดตันของท่อตับอ่อนเนื่องจากนิ่ว เนื้องอก โดยเฉพาะในกรณีที่มีตับอ่อนอักเสบเนื่องจากนิ่วในท่อน้ำดีอุดตันที่บริเวณรูเปิดร่วมของท่อน้ำดีและท่อตับอ่อน

การทำผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีโดยใช้กล้อง ( Laparoscopic Cholecystectomy)

ปัจจุบันถือว่าการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีโดยใช้กล้องเป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาโรคของถุงน้ำดี การผ่าตัดชนิดนี้ใช้วิธีการดมยาสลบแบบ General anesthesia โดยวิสัญญีแพทย์ และการผ่าตัดทำโดยศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญสูงเรื่องการผ่าตัดส่องกล้อง

ศัลยแพทย์จะทำการเปิดแผลที่ผนังหน้าท้อง 3-4 แห่ง เพื่อทำการสอดใส่เครื่องมือผ่าตัด และกล้องขยายเข้าไปในช่องท้อง และทำการใส่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) เข้าไปในช่องท้องเพื่อทำให้มีช่องบริเวณที่จะทำงานผ่าตัดถุงน้ำดี

หลังจากนั้นศัลยแพทย์จะทำการเลาะเนื้อเยื่อบริเวณถุงน้ำดีและตัดถุงน้ำดี และเส้นเลือดที่มาเลี้ยงถุงน้ำดี โดยไม่ให้มีอันตรายต่ออวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง แล้วจึงนำถุงน้ำดีออก  จึงทำการเย็บปิดแผลที่ทำการผ่าตัด ขนาดของแผลผ่าตัดเล็กเลือดออกน้อยเจ็บน้อย โดยทั่วไปจะใช้เวลาในการทำผ่าตัดประมาณ 45 นาที พักในโรงพยาบาล 2 วัน

คำแนะนำหลังผ่าตัดถุงน้ำดี

ถุงน้ำดีเป็นเพียงตัวเก็บพักน้ำดี ซึ่งช่วยในการย่อยอาหารประเภทไขมัน หลังผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก น้ำดียังคงถูกสร้างจากตับและไหลลงมาตามท่อน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กเพื่อย่อยไขมันตามปกติ เพียงแต่อาจไม่เข้มข้นเท่าเดิม จึงต้องดูแลด้านการรับประทานอาหารเป็นพิเศษเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

เลือกอาหารไขมันต่ำ

หลังผ่าตัดถุงน้ำดีเมื่อเวลาผ่านไปท่อน้ำดีจะขยายตัวและเก็บน้ำดีไว้ได้เพิ่มขึ้น บางคนสามารถรับประทานอาหารปกติได้ แต่ในคนที่การย่อยไขมันยังบกพร่อง อาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อหลังรับประทานอาหารไขมันสูงในมื้อเดียว ปกติควรรับประทานอาหารที่มีไขมันร้อยละ 20 ของพลังงานโดยเลือกรับประทานไขมันที่ไม่อิ่มตัวเป็นหลัก พบในเมล็ดธัญพืช ปลา เป็นต้น

เลือกอาหารที่มีใยอาหารสูง

อาการท้องเสียพบได้บ่อยหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีมักจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป การเพิ่มใยอาหารจะช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้ ใยอาหารพบในธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ผลไม้ ผัก และพืชตระกูลถั่ว ควรเพิ่มการรับประทานใยอาหารทีละน้อย ๆ เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา และอาหารรสจัด

รับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยมื้อ

การรับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่แบ่งเป็นหลายมื้อจะช่วยป้องกันท้องเสียและปวดท้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังผ่าตัด 2 เดือนแรก การรับประทานอาหารปริมาณมากและนั่งอยู่กับที่จะทำให้การดูดซึมอาหารไม่ดีและท้องเสียได้