เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด คืออะไร?
เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด (ACL Injury) เป็นภาวะที่เอ็นไขว้หน้า (ACL: Anterior Cruciate Ligament) ได้รับบาดเจ็บจนเกิดการฉีกขาด โดยเอ็นไขว้หน้านั้นเป็นเส้นเอ็นที่มีความสำคัญต่อการเดิน การทำกิจวัตรประจำวัน หรือการเคลื่อนไหวในการทำกิจกรรมต่างๆ เพราะว่าเป็นเส้นเอ็นที่มีหน้าที่สำคัญในการช่วยรักษาความมั่นคงของข้อเข่า ควบคุมการเคลื่อนไหว และป้องกันการบิดหมุนของข้อเข่า พร้อมกับช่วยล็อกข้อเข่าให้มั่นคง และไม่ให้มีอาการข้อเข่าไม่มั่นคงในขณะใช้งาน
เส้นเอ็นไขว้หน้ามักจะพบการบาดเจ็บได้บ่อย และสาเหตุของอาการบาดเจ็บนั้นมักจะมาจากการเล่นกีฬา หรือประสบอุบัติเหตุ ดังนั้น เมื่อได้รับการบาดเจ็บจนเอ็นไขว้หน้าขาดจึงควรรีบพบแพทย์ และเข้ารับการรักษาทันที ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมตามมาในภายหลังได้
เอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาดเกิดจากอะไร
อาการเอ็นไขว้หน้าขาด หรือเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าขาดมักพบได้บ่อย โดยเฉพาะสาเหตุจากการเล่นกีฬาและเกิดจากการบิดหมุนของหัวเข่าที่รุนแรง ทำให้เส้นเอ็นเกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาดได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับการเล่นกีฬาทุกประเภท โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องมีการปะทะ เช่น นักฟุตบอล นักวอลเลย์บอล นักบาสเกตบอล หรืออาจเกิดจากกิจกรรมอื่นทั่วไป เช่น ตกบันได อุบัติเหตุ แม้แต่เดินสะดุดก็อาจทำให้เอ็นไขว้หน้าขาดได้เช่นกัน
อาการเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดเป็นอย่างไร
- รู้สึกและได้ยินเสียงดังบริเวณหัวเข่า เหมือนมีบางอย่างขาด หรือมีอะไรดีดอยู่ในขา
- ข้อเข่ามีอาการบวม ปูด ภายในไม่กี่ชั่วโมง เพราะมีเลือดออกภายในข้อ
- รู้สึกเจ็บที่ข้อเข่าเป็นอย่างมาก
- หัวเข่าจะมีอาการปวดบวมจนเดินลงน้ำหนักไม่ได้ หรือไม่สามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ได้
- หากเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดเป็นเวลานาน จะมีอาการเข่าไม่มั่นคง (giving way) รู้สึกเหมือนเข่าจะหลุด เวลาบิดหมุน หรือวิ่ง
การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า ด้วยการส่องกล้อง
ปัจจุบันนิยมการผ่าตัดส่องกล้องแผลยิ่งเล็ก ยิ่งเจ็บน้อย ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นเราเรียกนวัตกรรมนี้ว่า
“Minimal Invasive Surgery (MIS) การผ่าตัดแบบแผลเล็ก”
เป็นการเจาะรูเล็กๆ เพียง 1 – 2 ซม. บริเวณผิวหนังที่ต้องการจะผ่าตัด เพื่อสอดอุปกรณ์ผ่าตัด และกล้องขนาดเล็ก พร้อมบันทึกภาพและส่งมายังจอรับซึ่งทำหน้าที่แทนตาของศัลยแพทย์ รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งประสิทธิภาพการรักษายังมีเช่นเดียวกับการผ่าตัดมาตรฐานเปิดแผลใหญ่ แต่มีความคมชัดมากขึ้น เพราะกล้องมีกำลังขยายสูง สามารถเข้าไปผ่าตัดในจุดเล็กๆ ที่มือแพทย์เข้าไม่ถึง และยังกระทบกระเทือนอวัยวะภายในน้อย จึงช่วยลดผลแทรกซ้อนทั้งยังทำให้การผ่าตัดสะดวก ลดความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัดทำให้ระยะพักฟื้นของผู้ป่วยน้อยลง การผ่าตัดอาจจะใช้เวลานานกว่าการผ่าตัดแบบมาตรฐานเปิดแผลใหญ่ เนื่องจากเครื่องมือมีขนาดเล็ก จึงตัดอวัยวะต่างๆ ได้ทีละน้อย อีกทั้ง การผ่าตัดผ่านกล้องยังเป็นผลดีกับอวัยวะภายใน อาทิ ลำไส้ เนื่องจากมีตัวควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้เป็นปกติ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งหากต้องเปิดแผลกว้าง อุณหภูมิความเย็นจัดในห้องผ่าตัดจะเข้าไปภายในท้อง ส่งผลให้ลำไส้บวมได้
ก่อนและหลังการผ่าตัดต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
- ควรเลิกสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 เดือน เนื่องจากทำให้เส้นเอ็นหลวม ติดช้า หรือไม่ติด ภายหลังการผ่าตัด ต้องมีการทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องมีการบิดหมุนหัวเข่ารุนแรง
ระยะเวลาการฟื้นฟูร่างกาย
- 1 วันหลังผ่าตัด ใช้ไม้เท้า + สนับเข่า
- 2 อาทิตย์ หลังผ่าตัด หยุดใช้ไม้เท้า
- 3 เดือน หลังผ่าตัด หยุดใช้สนับเข่า
- 3 เดือนหลังการผ่าตัด กายภาพบำบัดให้เหมาะสมกับกิจกรรมและกีฬาแต่ละแบบ
- 9 เดือน สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้